ประวัติโรงเรียน



ชื่อสถานศึกษาภาษาไทย   :   โรงเรียนเชตุพนศึกษา (ในพระสังฆราชูปถัมภ์)

ชื่อสถานศึกษาภาษาอังกฤษ :   Chetuphonsuksa school
ที่ตั้ง :    วัดเชตุพน เลขที่ ๕ ถนนเชตุพน ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

            พื้นที่บริเวณโรงเรียน มีพื้นที่ประมาณ ๖ ไร่ พื้นที่สนามประมาณ ๑ ไร่
            ทิศเหนือ             ติดหมู่บ้านเชตุพน
            ทิศใต้                 ติดถนนเชตุพนฝั่งตรงข้ามเป็นโรงเรียนปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย 
            ทิศตะวันออก       ติดกับโรงเรียนนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ 
            ทิศตะวันตก         ติดกับหมู่บ้านเชตุพน 



ประวัติโรงเรียน

 

ชื่อโรงเรียนเชตุพนศึกษา (ในพระสังฆราชูปถัมภ์) ตั้งอยู่เลขที่ ๕  ถนนเชตุพน  ตำบลวัดเกต  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ ๕๐๐๐๐ โทรศัพท์ ๐๕๓–๓๐๖๒๙๕ โทรสาร ๐๕๓-๒๔๖๒๙๙ Website: WWW.CTP.AC.TH โรงเรียนเชตุพนศึกษา เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดกลุ่มที่ ๕ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มหาเถรสมาคม ในเขตพื้นที่บริการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่๓๔ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๑

ปีพ..๒๕๒๓ - ๒๕๒๗ จัดตั้งโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่วัดเชตุพน (ยุบเลิกไปเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม) 

เมื่อวันที่ ๒๗ เดือน เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๗ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (ใบอนุญาตเลขที่ ๑๑๘/๒๕๒๗) สังกัดกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา จัดการศึกษาสำหรับภิกษุ-สามเณรในพระพุทธศาสนา โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนเชตุพนศึกษาตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ..๒๕๒๗ เป็นต้นมา โดยมีพระครูวิกรมคณาภิรักษ์ (สุมน ธมฺมธโรเจ้าอาวาสเป็นผู้จัดการ และพระมหาสุวัฒน์ สุวฑฺฒโน เป็นผู้อำนวยการ เปิดทำการสอน ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จัดการเรียนการสอนปีการศึกษาละ ๒ ภาคเรียน มีวันหยุดประจำสัปดาห์ คือ วันอาทิตย์ วันพระ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  

หลังจากพระครูวิกรมคณาภิรักษ์ ผู้จัดการและเจ้าอาวาสวัดเชตุพน ได้มรณภาพลง พระมหาสุวัฒน์ สุวฑฺฒโน ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเชตุพนแทนและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศในราชทินนานว่า “พระครูสิริธรรมานุศาสก์” ณ วันที่ ๙ เดือนมีนาคม ๒๕๓๒  จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ/ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนและผู้อำนวยการ ทำหน้าที่บริหารจัดการโรงเรียนจนมีความก้าวหน้าและความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนผู้เรียนของโรงเรียนเชตุพนศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๓๘ มีผู้เรียนทั้งสิ้น  จำนวน ๑,๓๕๒ รูป พร้อมกันนั้นท่านได้บูรณะวัดเชตุพนให้มีความสอดคล้องเอื้อต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนเป็นอย่างมาก เช่น อาคารเรียน  อาคารที่พัก และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้แข็งแรง และเพียงพอต่อการใช้สอยมากขึ้น

ในปี ๒๕๓๓ โรงเรียนได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกทรงรับโรงเรียนไว้ในสังฆราชูปถัมภ์ นับเป็นเกียรติประวัติของโรงเรียนเป็นอย่างสูงยิ่ง

ต่อมาระหว่างปี ๒๕๔๓-๒๕๕๕ พระเทพปริยัติ (สะอาด ขนฺติโก,ป.ธ.๗)รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเชตุพน ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียน โดยมีพระครูสถาพรเขมกิจ(พระครูปลัดเกษม ฐิตญาโณ)เป็นรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนเชตุพนศึกษา


ปัจจุบัน

พระเทพปริยัติ (สะอาด ขนฺติกโล)

เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นที่ปรึกษาโรงเรียน


รศ.ดร.พระมหาวิเศษ ปญฺญาวชิโร (ป.ธ.๙) 

เจ้าอาวาสวัดเชตุพน ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการโรงเรียน


พระครูใบฏีกาสมพร  โอภาโส

เจ้าอาวาสวัดศรีโขง  ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน


 จากแนวคิดในการก่อตั้งโรงเรียน ตามแนวทางของพระพุทธเจ้าที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพุทธศาสนิกชน ให้พ้นจากความทุกข์มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า พระพุทธเจ้าทรงให้เหล่าสาวกได้ศึกษาคันถธุระ(การเรียนรู้)และวิปัสสนาธุระ (การปฏิบัติ)โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะซึ่งสอดรับกับแนวการจัดการศึกษาในปัจจุบัน การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันที่มีมหาเถรสมาคมเป็นผู้กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาของสงฆ์ได้กำหนดหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรม พระปริยัติธรรมแผนกบาลี และหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ พร้อมดูแลกำกับและติดตาม ด้วยการจัดทำแผนงาน/โครงการของคณะสงฆ์ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของชาติ

โรงเรียนเชตุพนศึกษา ตระหนักในภาระงานด้านการจัดการศึกษา ที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างพุทธเยาวชนให้เป็นศาสนทายาทที่ดีมีคุณภาพ  โดยให้โอกาสแก่เยาวชนในเขตชนบทมาบรรพชาอุปสมบทเป็นสามเณรหรือพระภิกษุ ได้ศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรการศึกษาภาพบังคับ  อันเป็นการช่วยรับภาระ  การจัดการศึกษาของชาติ อีกทั้งเป็นการสร้างให้เยาวชนเหล่านั้นเป็นศาสนทายาทที่ดี มีศักยภาพในการสืบต่อพระพุทธศาสนา เมื่อลาสิกขาก็เป็นประชากรที่ดี  มีคุณภาพในการดำรงชีวิตสืบไป


แนวคิดการก่อตั้ง

พระพุทธองค์ทรงอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทรงบำเพ็ญ พระพุทธกิจให้เป็นประโยชน์แก่โลก ทรงมุ่งช่วยเหลือประชาชน ให้ได้รับประโยชน์ทั้งโลกนี้ โลกหน้า และที่สุดคือความพ้นทุกข์ ทรงสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เมื่อโลกเดือดร้อนก็เสด็จช่วยแก้ไขดับร้อนให้ ทรงสงเคราะห์ต่อโลกโดยมิได้ทรงทอดทิ้งประชาชน หรือตัดขาดจากความรับผิดชอบต่อโลก  เพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น

ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าคณะสงฆ์จะมีมหาเถรสมาคม  มีพระมหาเถระ เอาใจใส่งานพระศาสนา และพยายามสร้างสรรค์งานพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้า  จะเห็นได้จากแผนงานต่าง ๆ  อันเป็นโครงการของคณะสงฆ์ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน  หรือประเทศชาติก็ตาม ถ้าขาดผู้สนองงานที่ดี  งานเหล่านี้ก็สำเร็จได้ยาก ผู้สนองงานคือพระสงฆ์ส่วนใหญ่ จะต้องเป็นพระสงฆ์ที่มีคุณภาพ  สมรรถภาพ เข้าใจหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายมาปฏิบัติอย่างมีแบบแผนที่ดี  ถ้าต่างฝ่ายต่างคน ต่างทำกันไปงานก็จะบรรลุเป้าหมายยาก  

             คณะสงฆ์วัดเชตุพน โดยความเห็นชอบของเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่าการที่สืบต่อพระพุทธศาสนา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ได้ผลดี จนทำให้สภาพของสังคมมีความสงบสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจนั้น จะต้องสร้าง  ศาสนบุคคลให้เป็นศาสนทายาทที่ดีมีคุณภาพ และมีศาสนธรรมก่อนแล้วจึงค่อยพัฒนาด้านอื่นๆ ประกอบต่อไปเช่น  ศาสนสถาน ศาสนพิธีกรรมต่าง ๆ  เป็นต้น  แต่ในปัจจุบัน การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ ในเขตภูมิภาคชนบทนั้นยังขาดประสิทธิภาพทุก ๆ ด้านอยู่มากจนทำให้มีประสิทธิผลต่ำ ทั้งนี้เพราะการจัดการศึกษาแต่เดิมยังขาดการปรับปรุงระบบการศึกษาให้เอื้อเฟื้อต่อการเรียนการสอนในสภาวะปัจจุบันอยู่อีกมากอีกทั้งสถานการณ์ของชาวพุทธในปัจจุบันเน้นการสร้างวัตถุ (ศาสนวัตถุ)  มากกว่าการส่งเสริมการศึกษา ของพระภิกษุสามเณรให้มีคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท 

ดังนั้น  เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและสามารถที่จะผดุงไว้ซึ่งสถาบันนี้  ชาวพุทธจะต้องรับภาระในการให้ความอุปถัมภ์บำรุง ในการจัดการศึกษา ของพระสงฆ์อย่างจริงจังเพิ่มขึ้น 

อีกประการหนึ่ง ผู้ที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา ในเขตชนบท โดยบวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณรนั้น ส่วนมากขาดโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น จากการศึกษาภาคบังคับ ดังมีหลักฐานที่บ่งชี้อยู่มากมาย ทั้งรายงานกิจการพระศาสนา ของกรมการศาสนาทุกๆปี ก็ได้แจ้งไว้แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้การศึกษาแก่ท่านเหล่านั้น เพื่อเป็นการช่วยรับภาระของทางรัฐ ในการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนของชาติ เมื่อโตขึ้นจะได้เป็นทรัพยากรบุคคลของชาติที่มีคุณภาพ  ทั้งความรู้และคุณธรรมคู่กันไป อีกทั้งยังส่งเสริมให้ท่านเหล่านั้นเป็นพระสงฆ์ที่ดีมีความรู้แม้จะกลับไปเป็นพระสงฆ์หรือเจ้าอาวาสในท้องถิ่นเดิมของตนเองในโอกาสต่อไปด้วย  เห็นว่าการให้การศึกษาที่ถูกต้องเป็นหัวใจของการพัฒนาทุกสิ่งให้เจริญตามไปด้วย